ในประเด็นนี้ขอพูดถึง ระบบสัมมนากลุ่ม ที่นิยมนำมาใช้ในการเรียน Master หรือ Ph.D. ที่เน้นไปที่การทำวิจัย โดยนักศึกษาแต่ละคน จะมีหน้าที่ในการนำเสนอความก้าวหน้างานวิจัยของตัวเอง แก่อาจารย์ หรือนักวิจัยรุ่นพี่ เพื่อที่จะได้รับคอมเมนต์แล้วนำไปปรับแก้ งานของตัวเอง หรืออาจจะมีการถกเถียง รับความรู้เพิ่มเติม ที่คนอื่นอาจจะรู้ แต่เราไม่รู้ อันจะก่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ (knowledge transfer) และอาจรวมไปถึงการสร้างไอเดียใหม่ๆ เพื่อจะได้นำไปศึกษาต่อได้
ส่วนสำคัญที่จะทำให้การสัมมนาสำเร็จผลนั้น นอกจากเนื้อหาแล้ว รูปแบบการสัมมนา ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างเต็มที่ ผมอยากจะลองแชร์ข้อดีข้อเสีย ของรูปแบบการสัมมนาในแบบต่างๆ ให้ได้เห็นกัน
แบบที่ 1 ผู้นำเสนอผลงานทุกคน ต้องนำเสนอผลงานทั้งหมด อาจจะใช้เวลาทั้งวัน หรือ 2-3 วัน และความถี่การนำเสนอ อาจจะหนึ่งเดือนครั้ง
ข้อดี: ทุกคนเท่าเทียมกัน เวลาทำงานเท่ากัน เวลาจะเฮฮาก็พร้อมกัน เวลาเครียดก็ใกล้เคียงกัน เหมาะสำหรับ Lab ที่ Prof ค่อนข้างยุ่ง มีเวลาน้อย และ Lab ขนาดใหญ่ ที่นัดสมาชิกยาก หรือ Lab ที่มีคนทำงานมาเรียนเยอะ
ข้อเสีย: เนื่องจากเวลาที่แต่ละคนต้องพรีเซนต์ต่อกันไปเรื่อยๆ และความล้า จากการนั่งฟังงานวิชาการที่ยาวนาน อาจจะลำบากในการให้ comment ลงรายละเอียด รวมถึงคนที่ต้องพรีเซนต์ก็อาจกังวลเรื่องการนำเสนอของตัวเอง ทำให้ไม่ได้ตั้งใจฟังงานของคนอื่นเท่าที่ควร คนที่จะให้คอมเมนต์ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็จะเป็นคนที่ไม่ได้พรีเซนต์ (ซึ่งส่วนใหญ่หมายถึงอาจารย์)
แบบที่ 2 นำเสนอผลงานแบบวนกันไป ครั้งหนึ่งอาจจะ 1-3 คน เพื่อให้กินเวลาจำกัด ประมาณ 3-4 ชั่วโมง และทำเป็นประจำทุกสัปดาห์
ข้อดี: เกิดการ discuss กันอย่างกว้างขวาง เพราะผู้ที่ไม่ต้องรับผิดชอบนำเสนอผลงาน จะไม่เกิดความกังวลใจ ลงรายละเอียดได้มากกว่าแบบแรก มีโอกาสที่จะกระตุ้นตัวเองให้ทำงานอยู่ตลอดเวลามากกว่า เนื่องจากมีสัมมนาในทุกอาทิตย์
ข้อเสีย: ใช้เวลามากกว่าปกติ บางคนอาจจะขาดการสัมนาบ่อยกว่าแบบแรก เพราะอาจจะไม่สะดวกในทุกๆ อาทิตย์ เหมาะกับแลบที่คนไม่เยอะมากนัก ที่จะทำให้การนำเสนอของแต่ละคนในครั้งนี้ กับครั้งถัดไป ไม่ขาดตอนนานเกินไปนัก
แบบที่ 3 สัมมนาแบบกลุ่มย่อย จัดแยกกลุ่มคนนำเสนอ ตามหัวเรื่องที่สนใจ
ข้อดี: ลงรายละเอียดได้มาก สามารถให้ความรู้ได้เจาะลึก เฉพาะเรื่องลงไป สามารถเชิญผู้เชี่ยวชาญนอก Lab ในสาขานั้นมาร่วมด้วยได้ หรือจะมีการจัดสัมมนาในรูปแบบอื่นร่วมด้วยได้ เช่น การทำ workshop, การอภิปรายเกี่ยวกับวิธีการทดลอง, การหาข้อมูลร่วมกัน หรือ อาจจะสัมมนาในรูปแบบ project ที่ทุกคนมีจุดประสงค์หลักร่วมกัน แล้วแบ่งแยกย่อยปัญหาให้แต่ละคนรับผิดชอบ
ข้อเสีย เปลืองเวลามากที่สุด ใช้พลังงานสมองค่อนข้างมาก ต้องมีทีมเวิร์คที่แข็งแรง
ส่วนแบบไหนจะดีที่สุดนั้น ผมไม่ขอฟันธง เพราะคงต้องขึ้นอยู่กับ Lab และสมาชิก
ว่ามีธรรมชาติเป็นอย่างไร แบบไหนที่จะทำงานแล้วรู้สึกสบายใจที่สุด
แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมนั้น ไม่ว่าแบบไหนก็ตาม
แต่ถ้าทุกคนได้มีโอกาสคุยกันมากขึ้น ปรึกษากันมากขึ้น
นำปัญหาที่เกิดในงานตัวเอง มาแชร์ มาทำให้ทุกคนรับรู้ว่าเป็นปัญหาร่วมกัน
ที่ควรต้องร่วมกันแก้ไข น่าจะเป็นการทำงานทีื่สร้างแรงจูงใจในการทำงานให้สนุกกันมากขึ้น
เพราะเมื่อทุกคน จริงใจ และสนิทใจ ที่จะทำงานร่วมกันแล้ว อุปสรรคใดๆ ก็คงฝ่าฟันไปได้ . . .
1 comment:
Post a Comment